เพาะเห็ดหลินจือขาย อาชีพทำเงิน ; เห็ดหลินจือ มีสรรพคุณทางยาที่เป็นสารแอนติอ๊อกซิแดนช์ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระลดการเกิดมะเร็ง รวมถึงการป้องกันมะเร็งได้อีกด้วย จึงทำให้ราคาเห็ดหลินจือสูง สำหรับท่านที่สนใจอยากเพาะเห็ดหลินจือ BangkokToday.Net มีเรื่องราวดีๆและวิธีเพาะเห็ดหลินจือโดยเจ้าของฟาร์มเห็ดหลินจือ ที่ประสบความสำเร็จ
ลุงหยุด แช่มประเสริฐ เจ้าของฟาร์มเห็ด
“เห็ดหลินจือ” ทำให้การแพร่หลายในฐานะเห็ดเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่ง อาจดูไม่กว้างขวางอย่างเช่น เห็ดภูฎาน เห็ดฮังการี หรือเห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) ซึ่งคนส่วนใหญ่ เริ่มรู้จักกันดี แต่ในมุมกลับกันสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น หลายๆคน กลับมามีสุขภาพดีได้อีกครั้ง เหมือนดังเช่น “ลุงยุทธ์” หรือ ชื่อจริง คือ ลุงหยุด แช่มประเสริฐ ซึ่งเป็นเจ้าของ ฟาร์มเห็ดหลินจือและเห็ดเศรษฐกิจอีกนานาชนิดที่ อ.วิหารแดง จ.สระบุรี รายนี้ จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการจะรักษาตัวเองให้หายป่วยจากโรคต่างๆ ที่รุมเร้า ครั้นเมื่อร่างกายเริ่มแข็งแรงและกลับมาเป็นปกติ แล้วจึงมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ “ตัวยาดี” ให้กับคนอื่นได้นำไปประโยชน์บ้าง จึง ได้เปิดฟาร์มเห็ดหลินจือ ขึ้นมาซึ่งมีการจัดการอย่างเป็นระบบและการผลิตแบบครบวงจรในปัจจุบัน
สุขภาพดีด้วย “เห็ดหลินจือ” ลุงยุทธ์ เล่าว่า ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปีก่อนสุขภาพของตนไม่ค่อยดีนัก ป่วยเป็นโรคต่างๆ อยู่หลายโรคด้วยกัน อาทิ เช่น โรคปอด โรคเลือดจาง และภูมิแพ้ เป็นต้น ทำให้ต้องคอยเข้าๆ ออกๆโรงพยาบาล อยู่เสมอ เพื่อไปพบแพทย์ ตามที่นัดอยู่เป็นประจำ จนกระทั่งได้รู้จัก “เห็ดหลินจือ” จากบุคคลท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนตัวแล้วตนมีความนับถือในฐานะเป็นอาจารย์ ซึ่งท่านผู้นั้นมีชื่อว่า “อาจารย์โกหย่ง” เป็นชาวไต้หวันซึ่งมาทำฟาร์มเห็ดหลินจืออยู่ที่คลอง 8 แม้จะมีอายุมากแล้ว โดยได้ชื่อว่าเป็นคนอายุยืน และมีสุขภาพที่แข็งแรงมาก ซึ่งได้แนะนำให้ตนรับประทานเห็ดหลิงจือ เพราะตัวท่านอาจารย์โกหย่งเองก็รับประทานอยู่เป็นประจำ และได้ให้เชื้อพันธุ์ของเห็ดชนิดนี้เพื่อนำกลับมาเพาะเลี้ยงสำหรับไว้รับประทานเองด้วย ผ่านมา 3 ปี กว่าเกือบจะ 4 ปีแล้วหลังจากที่รับประทานเห็ดหลินจือ โดยตนจะต้มเอา “น้ำเห็ด” สำหรับดื่ม เป็นประจำทุกวัน มาโดยตลอด ปรากฏว่าสุขภาพกลับมาเป็นปกติดี ร่างกาย แข็งแรงขึ้น และที่สำคัญคือว่าตอนนี้ตนไม่ต้องไปหาหมออีกด้วย
วิธีเพาะเห็ดหลินจือ
ก่อนหน้าจะมาทำฟาร์มเห็ดหลินจือนั้น ลุงยุทธ์เล่าให้ฟังว่า เดิมตนก็มีกิจการฟาร์มเห็ด (เพาะ และขายก้อนเชื้อเห็ด) อาทิ เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อ และเห็ดขอน ซึ่งครอบครัวได้เปิดดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพราะในเขต อ.วิหารแดง ที่นอกจากจะเคยมีชื่อเสียงในด้านการเลี้ยง “เป็ดไข่” อีกด้านหนึ่งยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่ง “ เห็ดเศรษฐกิจ” โดยมีการเพาะเป็นอาชีพกันอย่างหลากหลายชนิดด้วย และสำหรับเห็ดหลินจือนั้นซึ่งพอหลังจากตนเห็นว่าเพาะไว้รับประทานเองแล้ว จึงได้ศึกษาเกี่ยวกับวิธีผลิตเชื้อเห็ดเพื่อการขยายพันธุ์เป็นการเพิ่มเติม โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเคี่ยววุ้น เลี้ยงเนื้อเยื่อ ทำเองหมดเลยทุกขั้นตอนจนกระทั่งผลิตดอกเห็ดออกมา ซึ่งเมื่อประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้วต่อจากนั้นก็เลยขยายผลโดยทำเป็นในรูปของฟาร์มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรือนสำหรับผลิตดอก (ขนาดความจุ 8,000 – 9,000 ก้อน) จำนวน 2 โรงจากทั้งหมด 10 โรง ที่มีการเพาะเห็ดอื่นๆ อยู่ในฟาร์มด้วย
การทำก้อนเชื้อเห็ดหลินจือ
ผสมขี้เลื่อยไม้ยางพารา (100 กก.) รำละเอียด (1.5 กก.) ยิปซัมหรือปูนขาว (1กก.)เข้าด้วยกัน นำดีเกลือ (0.2 กก.)หรือน้ำตาลทราย(2กก.) ละลายน้ำแล้วผสมกับขี้เลื่อยให้ทั่วเติมน้ำลงไปให้เป็นฝอย คลุกเคล้าให้เข้ากันดี ตรวจสอบให้มีความชื้นประมาณ 60-65 % โดยการบีบขี้เลื่อยผสมให้แน่นแล้วคลายมือออก ขี้เลื่อยผสมควรจับตัวกันอยู่ได้ แต่ไม่ชื้นจนมีหยดน้ำไหลออกมาและไม่แห้งจนขี้เลื่อยแตกร่วนเมื่อคลายมือ จากนั้นบรรจุในถุงพลาสติกทนร้อน ประมาณ 900 กรัม/ ถุง แล้วอัดให้แน่นพอประมาณ รวบปากถุง ใส่คอขวดพลาสติกดึงปากถุงพลาสติก รัดด้วยยางวง ทำช่องตรงกลางถุงเจาะด้วยไม้แหลม สวมฝาครอบสำเร็จรูปและปิดฝา (ซึ่งรองด้วยกระดาษ) หรือสำลีและปิดทับด้วยกระดาษหรือปิดด้วยจุกแบบประหยัด
การนึ่งก้อนเชื้อ ก้อนเชื้อเห็ดที่เตรียมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะนำไปนึ่งในหม้อนึ่งหรือถึงนึ่ง ไม่อัดความดันแล้วนึ่งเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด โดยสังเกตจากไอน้ำที่พุ่งตรงจากรูที่เจาะไว้ที่ฝาแล้วทิ้งให้เย็น
การต่อเชื้อเห็ด หัวเชื้อเห็ดนั้นจะต้องมีการเขย่าขวดเป็นระยะ และก่อนจะนำมาใช้ 1 คืน ควรจะเขย่า ให้เมล็ดข้าวฟ่างกระจายออก ดึงจุกสำลีลนปากขวดหัวเชื้อที่เปลวไฟเทหัวเชื้อลงในถุงอาหารประมาณถุงละ 20-30 เมล็ดปิดที่ครอบคอขวดไว้ตามเดิม การหยอดหัวเชื้อต้องทำในที่สะอาดและไม่มีลมพัดผ่าน
การบ่มก้อนเชื้อเห็ด นำก้อนเชื้อเห็ดวางบนชั้น ในแนวตั้งหรือแนวนอน ก็ได้ในที่มืดจนเส้นใยเจริญเต็มถุงใช้เวลาประมาณ 1-1 ½ เดือน
การดูแล โรงเรือน ก่อนเพาะเห็ดหลินจือนั้นต้องมีการจัดการที่ดีพอสมควร โดยเฉพาะโรงเรือนควรมุงด้วยหญ้าแฝกจึงจะดี ภายในโรงเรือนก็ควรจะมีหน้าต่างให้เยอะหน่อย เพื่อการระบายอากาศ เพราะเห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มาจากเมืองหนาว จะไม่ชอบอากาศทึบ ชอบอากาศที่ถ่ายเท ดังนั้นตัวโรงเรือนควรจะสูงโปร่ง มีการระบายอากาศที่ดี และก่อด้วยอิฐจะดีกว่าคลุมด้วยซาแลนหรือใช้ผ้ายางคลุม จะทำให้ดอกใหญ่และคุณภาพดีกว่า เทียบเท่ากับที่เพาะในต่างประเทศซึ่งก่อนนำก้อนเห็ดเข้ามาในโรงเรือน ต้องดูแลเรื่องความสะอาดเป็นอย่างดี และไม่ให้มีสิ่งสกปรกไปเปื้อนดอกเห็ดได้ ทางที่ดีควรเทพื้นปูน แล้วเวลาวางก้อนเชื้อในชั้นเพาะไม่ควรวางสูงเกินไปควรจะวางประมาณ 10 ชั้น หรือ 12 ชั้นก็พอ หากมากกว่านั้นจะเกิดแก๊ซมากในโรงเรือนทำให้ร้อน ก้อนเห็ดจะเสียได้ง่าย
การให้น้ำ หลังจากที่เปิดดอกแล้วจะให้น้ำวันละ 1 ครั้ง (ราดด้วยสายยาง หรือ พ่นฝอย หรือ สปริงเกลอร์)จนกระทั่งเห็ดเริ่มแก่ สปอร์ก็จะเริ่มออก ถึงตอนนั้นควรจะล้างก้อนให้สะอาดไม่ไห้มีฝุ่นเกาะค้าง แล้วปิดโรงเรือนทั้งหมดโดยใช้ “ผ้ามุ้ง” บุตามหน้าต่างหรือประตูเข้า-ออก ซึ่งจะช่วยป้องกันพวกแมลงศัตรูของเห็ดหลินจือ เช่น แมลงเต่าดำ และตัวไร ที่จะเข้ามาทำความเสียหายแก่ดอกเห็ดได้ จนกระทั่ง “สปอร์” ออกต้องหยุดให้น้ำ หรืออีกกรณี คือ ช่วงดอกเริ่มจะแก่มักมีปัญหา “ราเขียว” ขึ้นที่ใต้ดอก ก็ต้องหยุดให้น้ำเพราะถ้าปล่อยให้ราเขียวขึ้นดอกเห็ดจะใช้ไม่ได้เลย ต้องไม่ให้มีสิ่งปลอมปนอื่นโดยเฉพาะพวกราต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากจะต้องระมัดระวังในการผลิตเห็ดหลินจือ
เทคนิคเพิ่มผลผลิตเห็ดหลินจือ
ลุงยุทธ์ บอกว่า ผลผลิตที่สำคัญของการเพาะเห็ดหลินจือ คือ “สปอร์” ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเราค่อนข้างมากทีเดียวใช้รักษาโรค เช่น ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ – อัมพาต ได้ดีมากสำหรับตัวนี้ มีราคาค่อนข้างแพง (ประมาณ 10,000 – 15,000 บาท/กก.) ซึ่งเมื่อดอกแก่สปอร์จะเริ่มหลั่งออกมา ดูได้จากที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้น(ฝุ่นๆสีน้ำตาลแดง)จะแดงไปหมดทั้งโรงเรือนเลย การเก็บผลผลิตในส่วนนี้ก็จะเก็บได้ 2-3 ครั้งเช่นกัน และจะเก็บเฉพาะจากดอกรุ่นแรกเท่านั้น ซึ่งจากก้อนเห็ด 8,000 – 9,000 ก้อน / โรง สปอร์ที่เก็บได้รวมกันแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 1 กก. เท่านั้น อีกทั้งวิธีการจัดการที่ยุ่งยากพอสมควรเหมือนกัน คือ หลังจากเก็บสปอร์มาแล้วต้องนำไปฆ่าเชื้อก่อน จากนั้นจึงบรรจุหีบห่อหรือจัดเก็บรักษา โดยต้องเก็บไว้ในที่อุณหภูมิปกติห้ามใส่ตู้เย็น เพราะจะทำให้เกิดเชื้อราทันที ต้องเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิดเพื่อป้องกันไม่ไห้แมลงต่างๆเข้าไปได้ ซึ่งจะสามารถเก็บได้นานเป็นปี
ผลตอบแทนและตลาดของเห็ดหลินจือ
จากราคาก้อนที่ลุงยุทธ์จำหน่าย 10 บาท /ก้อน ในปัจจุบัน การเพาะเห็ดหลินจือจะเริ่มคืนทุนตั้งแต่เก็บดอกรุ่นแรก พอมารุ่นที่สองจะเริ่มมีกำไรเพิ่มขึ้นและถ้ารุ่นที่สามก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ในส่วนของทางฟาร์มเองนั้นลุงยุทธ์บอกว่า รายได้ที่เกิดจาก “ดอกเห็ด” ซึ่งจะต้องทำให้แห้ง(ตาก) ก่อนจำหน่ายอยู่ที่ราคาประมาณ 1,000 – 3,000 บาท/กก. การเพาะจะทำ อยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง / ปี โดยหลักๆ แล้วลูกค้าประจำจะเป็นชาวไต้หวัน ซึ่งมาซื้อยู่ประมาณ 40-50 กก.ทุกปี ถือว่าเยอะพอสมควร ส่วนใหญ่จะขายอยู่ที่ฟาร์มไม่ได้นำไปส่งให้พ่อค้าที่ไหน ซึ่งคนที่มาซื้อจะรู้จัดเห็ดหลินจือเป็นอย่างดี ก็จะมาแบ่งซื้อครั้งละ 1-2 กก.บ้าง หรือครั้งละ 1-2 ขีด ก็มี หรืออย่าง “สปอร์” ก็จะมีการนำไปใช้รักษาคนป่วยเป็นอัมพฤกษ์ – อัมพาต เคยมีคนมาขอซื้อจากทางฟาร์มไปบ้างแล้วเหมือนกัน อีกอย่างคือ ตนเองก็จะไว้สำหรับรับประทานเองด้วยเป็นบางช่วง โดยไม่แนะนำเรื่อง “ตลาด” ว่าเมื่อนำไปใช้รักษาคนป่วยที่เป็นอัมพฤกต์ –อัมพาต เคยมีคนมาขอซื้อจากทางฟาร์มไปบ้างแล้วเหมือนกัน แต่จะขอแนะนำจากประสบการณ์ตนเองว่า เน้นให้เอาไปเพาะไว้รับประทานเอง ไว้ใช้ประโยชน์เองหรือถ้ามีคนสนใจก็ได้ขายบ้าง เป็นลักษณะเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าในอดีตลุงยุทธ์เคยล้มเหลวมาจากธุรกิจของครอบครัวทำมาหลายปี และกลับมากอบกู้สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้อีกครั้งเพราะการทำเห็ด ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตโดยแบ่งออกเป็น การผลิตก้อนเชื้อ เห็ดประมาณ 80,000 -100 ,000 บาท ก้อน/ เดือน และการจำหน่ายดอกเห็ดสดจากฟาร์ม อาทิ เห็ดขอน ราคาประมาณ 50-60 บาท /กก. เห็ดฮังการี ประมาณ 35-40บาท/กก. เห็ดลมประมาณ 90-100 บาท/กก.และเห็ดโคนญี่ปุ่น (เห็ดยานางิ) ประมาณ 100-150บาท/กก.เป็นต้น ซึ่งมีผลผลิตขายทุกวันสร้างรายได้อย่างน่าพอใจอีกทั้งให้ความร่วมมือกับทางสำนักงานเกษตรอำเภอวิหารแดงโดยเปิดเป็นจุดถ่ายทอดความรู้และศึกษาดูงานด้านการเพาะเห็ดสำหรับผู้ที่สนใจ ให้การสนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรกรหรือโครงการยุวเกษตรคลื่นลูกใหม่ โดยมีลูกสาวรับหน้าที่เป็นแกนนำเยาวชนในการขยายผลโครางการยุวเกษตรและเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ตามโรงเรียนและชุมชนต่างๆเป็นต้น ทำให้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้มาดูงานอยู่อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งรวมถึงคณะดูงานจากประเทศภูฎานที่ได้เคยเข้ามาที่ฟาร์มด้วย ล่าสุดเพื่อเป็นการเปิดให้ความรู้ด้านการเพาะเห็ดแบบครบวงจรลงยุทธ์จึงเปิดเป็น “โฮมสเตย์” ด้วย สำหรับคนที่สนใจได้เข้ามาพักพร้อมศึกษาเรียนรู้เรื่องการเพาะเห็ดไม่หวงวิชา ให้อีกด้วย
(ที่มา Cr. คู่มือเพาะเห็ดเงินล้าน)